ข้อมูลทั่วไป » สภาพทั่วไป

สภาพทั่วไป

10 มีนาคม 2019
706   0

ประวัติและความเป็นมาของตำบลหัวทุ่ง

          จากการศึกษาตำนานวัดศรีดอนคำ  วัดไฮสร้อย  พงศาวดารฉบับของล้านนาเชียงแสนและการเล่าสืบต่อกันมาจึงแน่ใจว่า เขตตำบลหัวทุ่ง โดยเฉพาะบ้านแม่ลองเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านกิ่วฤาษีที่จะไปเหนือหรือลงใต้สู่เมืองหลวงสุโขทัย อยุธยาและกรุงเทพ ฯ ผู้คนที่กวาดต้อนทั้งชาวลานนา แม้กระทั่งชาวพม่าเชื้อสายกระเหรี่ยงก็มาตั้งถิ่นฐาน เช่น บ้านค้างตะนะ  บ้านแม่รัง บ้านแม่ลอง บ้านนาตุ้ม (๒ หมู่)  บ้านนาอุ่นน่อง บ้านหัวทุ่ง (เดิมคือบ้านนาหมาโก้ง)  บ้านแม่จอก บ้านเค็ม  บ้านไผ่ล้อมและบ้านนามน รวม  ๑๑ หมู่บ้าน รวมเป็นตำบล เมื่อปี ๒๕๔๐  กำนันคนแรก ชื่อแคว่นวงศ์  ภีระ เป็นคนจากลำปาง กำนันคนที่  ๒ ชื่อแคว่นอ้าย บ้านนามน คนที่  ๓ ชื่อกำนันปัญญา  จำปาแก้ว     ได้รับพระราชทานนามว่า  “ ขุนนิคม  ศิระเขต” เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงในปี ๒๔๗๕ ซึ่ง อำเภอลองก็ได้ เปลี่ยนจากอำเภอเมืองลอง  จังหวัดลำปาง มาเป็นอำเภอลอง  จังหวัดแพร่ ตั้งแต่บัดนี้ กำนันคนที่ ๔ คือแคว่นปั๋น คือ นายอินปั๋น เอ้ยวัน ต่อมาเปลี่ยนนามสกุล เป็นกำนันอินปั๋น ศิริสานสุวรรณ กำนันคนที่ ๕ คือกำนันอ้าย  สุภาแก้ว กำนันคนที่  ๖ คือกำนันเขียน  ต่อตัน  ช่วงนี้มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็น  ๑๗  หมู่บ้านการบริหารงานในรูปแบบสภาตำบลประสบปัญหายุ่งยาก งบประมาณไม่เพียงพอที่จะกระจายลงสู่หมู่ที่มีจำนวนมาก จึงคิดแยกเป็น  ๒  ตำบล โดยพิจารณาหารือตกลงแยกออกไป  ๘  หมู่บ้านเป็น ตำบลบ่อเหล็กลอง ตั้งแต่  บ้านนาตุ้ม ๒ หมู่ บ้านทุ่งเจริญ  บ้านแม่ลอง   บ้านแม่แขม -หนองแดง บ้านค้างตะนะ บ้านต้นม่วง และบ้านแม่รัง ซึ่งการแยกตำบลสำเร็จเมื่อตำบล ได้กำนันคนที่  ๗ คือนายสมทรง  เป็กกันใจ  ปี ๒๕๓๒  ปัจจุบันตำบลหัวทุ่ง มี ๙ หมู่บ้าน คือ บ้านไผ่ล้อม หมู่ที่ ๑ บ้านนามน  หมู่ที่ ๒ บ้านหัวทุ่ง  หมู่ที่ ๓  บ้านแม่จอก  หมู่ที่ ๔  บ้านเค็ม  หมู่ที่ ๕ บ้านนาอุ่นน่อง  หมู่ที่ ๖ – ๗  บ้านเชตวัน  หมู่ที่ ๘ และ บ้านไผ่ล้อมพัฒนา  หมู่ที่ ๙  การบริหารรูปแบบองค์กรท้องถิ่นได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลหัวทุ่ง  เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหัวทุ่ง   เมื่อวันที่  ๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๔๐

 

เล่าขานตำนานหมู่บ้าน

หมู่ที่  ๑  บ้านไผ่ล้อม

มีตำนานเล่าว่า มีฤาษีตนหนึ่ง ได้จาริกแสวงบุญมาถึงยังห้วยหมาน้อยยามเที่ยง อากาศร่มรื่นสบายดี จึงปักไม้เท้าไว้ริมตลิ่ง ลงอาบน้ำชำระร่างกาย อาบน้ำเสร็จก็เดินชมธรรมชาติ  จนลืมไม้เท้าที่ปักไว้ ต่อมาไม้เท้าฤาษีได้ผลิดอกใบแผ่กิ่งและลำต้นงอกงามเป็นไผ่กอใหญ่ มีกิ่งและใบลู่ลงดิน ผู้คนเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงอพยพมาอยู่มากขึ้นและเรียกว่า “ บ้านไผ่ล้อ” ภายหลังก็เพี้ยนเป็น  “บ้านไผ่ล้อม”  ปี  พ.ศ. ๒๕๓๓  ได้มีการแยกหมู่บ้านใหม่ขึ้นมา

 

หมู่ที่ ๒  บ้านนามน

                   บ้านนามน  หมู่ที่ ๒  แต่เดิมมีหนองน้ำขนาดใหญ่  เป็นแหล่งน้ำ แห่งชีวิตของคนย่านนั้น   มียายแก่ชื่อยายมนทำไร่รอบหนองน้ำนั้น  นาน ๆ เข้าไร่ก็กลายเป็นนา  คนทั่วไปเรียกว่า “ นายายมน”  นานเข้าก็สั้นเหลือเพียง  “นามน”

 

หมู่ที่ ๓ บ้านหัวทุ่ง

บ้านหัวทุ่งนี้เดิมเรียกว่า บ้านนาหมาโก้ง ซึ่งประวัติเดิมที่มีอยู่ว่า มีแม่ชีปะขาวคนหนึ่งได้เดินทางมาจากเมืองเหนือได้มาแวะพักปฏิบัติธรรมกัมฐานอยู่ที่ป่าไม้ตะเคียนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของหมู่บ้านนี้ แต่ปัจจุบันนี้ ป่าไม้ตะเคียนนั้นได้ถูกเจ้าของที่นาแห่งนี้ ได้ตัดไปหมดแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เอาไม้นั้นมาสร้างศาลาบาตรของวัด แม่ชีปะขาวมีหมาอยู่ตัวหนึ่งชื่อหมาโก้ง และหมาโก้งตัวนี้ได้มาตายที่ป่าละเมาะแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านเรียกป่าแห่งนั้นตามภาษาพื้นเมืองว่า  “ ป่าโกนหมาโก้ง” มีทุ่งนาล้อมรอบทุ่งนาทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านที่ถนนผ่านเข้ามา     หมู่บ้านนี้เรียกว่า           “บ้านหมาโก้ง”  หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านนาหมาโก้ง  ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ บ้านหัวทุ่ง”

 

หมู่ที่ ๔ บ้านแม่จอก

                   ในอดีตพื้นที่การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านเป็นที่ลุ่ม ที่ดอน น้ำท่วมถึง เมื่อชาวบ้านทนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้จึงพากันย้ายถิ่นฐานขึ้นไปทางทิศเหนือ ซึ่งที่แห่งใหม่นี้ เดิมมี ๒ ครัวเรือนนานเข้าก็เพิ่มเป็น  ๔๐  ครัวเรือน จนกระทั่งปัจจุบันได้เพิ่มเป็น  ๑๕๗  ครัวเรือน  ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายเขียว  แว่นแก้ว และคนปัจจุบันคือ  นายสมคิด แว่นแก้ว การเรียกชื่อหมู่บ้านเรียกตามลำน้ำห้วยแม่จอกเป็นบ้านแม่จอก

 

หมู่ที่  ๕ บ้านเค็ม

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ชาวบ้านนาหมาโก้ง และบ้านดอนทราย ๑๕ ครอบครัว มาทำไร่ไม่นานก็มีมากขึ้น จึงตั้งชื่อบ้านว่า  “ บ้านหนองตีนแตก”  ต่อจากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น  “ บ้านหนองตีนตัง” อีก  ๒๐  กว่าปีต่อมาจึงแต่งตั้งชื่อหมู่บ้าน เป็น  “บ้านเค็ม” อยู่หมู่ที่ ๕ ตำบลหัวทุ่ง  มีการสร้างวัดและโรงเรียนขึ้น  ไม่นานวัดโรงเรียนก็ร้าง ในปี พ.ศ.  ๒๕๐๗ มีประชากรประมาณ  ๘๐ กว่าครอบครัว จึงสร้างวัดขึ้นใหม่ ที่ตั้ง คสมช. ในปัจจุบันและต่อมาได้สร้างวัดขึ้นมาอีกจนถึงปัจจุบัน

 

หมู่ที่  ๖  บ้านนาอุ่นน่อง

เมื่อปี พ.ศ.  ๒๔๒๐  มีพระนางจามทวีจากลำพูนมาแวะพักที่บ้านนาอุ่นน่อง  ในช่วงฤดูหนาว  หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไป  ตำบลป่ากาง  แล้วเดินทางต่อไปที่เมืองลอง  ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดลำปาง  เมืองลองได้โอนเข้ามาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดแพร่ในปี พ.ศ.  ๒๔๘๘  ซึ่งแต่เดิมบ้านนาอุ่นน่อง  มีชื่อว่า “บ้านม่อน” ที่ซึ่งมีความแห้งแล้งมีกวางอาศัยอยู่ตามม่อนดอย ดังนั้น จึงเรียกกันว่า “บ้านม่อนกวางผอม” ซึ่งแยกออกมาจากบ้านนาตุ้ม ของตำบลบ่อเหล็กลอง และแยกจากหัวทุ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

 

หมู่ที่  ๗  บ้านนาอุ่นนอง

เดิมทีบ้านนาอุ่นนอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอลอง  ห่างจากตัวอำเภอลองประมาณ ๗ กิโลเมตร   สมัยก่อนอำเภอลองได้ขึ้นอยู่กับจังหวัดลำปาง  แล้วโอนย้ายมาอยู่จังหวัดแพร่เมื่อวันที่  ๒๕  พ.ย.   พ.ศ.  ๒๔๗๔  มาจนถึงปัจจุบันบ้านาอุ่นน่องตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๒๐  ราษฎรได้แยกกันออกเป็น  ๒  พวก  พวกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำห้วยแม่ลอง  มีครอบครัวอยู่  ๑๒  ครอบครัว  อีกพวกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของลำห้วยแม่ลอง  มีครอบครัวอยู่  ๒๔  ครอบครัว  ราษฎรทั้งสองพวกจึงได้เลือกหัวหน้าขึ้นเป็นครั้งแรกคือ นายบุญมา  สมภาร  สมัยก่อนเรียกหัวหน้าว่า  “แก่บ้าน”

ต่อมามีประวัติเล่ากันว่า  มีพระปัจเจกกะโพธิ์รูปหนึ่งมาจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ได้เดินทางมาพักอยู่ในหมู่บ้านนี้  ตอนนั้นเป็นฤดูหนาวอากาศหนาวมากชาวบ้านจึงช่วยกันหาฟืนมาก่อไฟผิงเพื่อให้ได้รับความอบอุ่นจากกองไฟ  ก็พากันอุ่นน่องอุ่นแข้งขึ้นเพื่อให้หายหนาว  จึงได้ตั้งนามของหมู่บ้านนี้ขึ้นว่า  “บ้านนาอุ่นนอง”  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

หมู่ที่  ๘  บ้านเชตวัน

เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากหมูที่  ๓  เมื่อวันที่  ๑๕ มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๓๒  ดังนั้นจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ตามประวัติเดิมของหมู่ที่  ๓  คือ  “บ้านเชตวัน”

 

หมู่ที่  ๙  บ้านไผ่ล้อมพัฒนา

บ้านไผ่ล้อมพัฒนา    ได้รับการตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่  ๙  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๓๔  โดยแยกมาจากบ้านไผ่ล้อมหมู่ที่ ๑  ตำบลหัวทุ่ง  ซึ่งประชากรในขณะนั้นมีประมาณ ๑,๖๐๐  คน  รวมประมาณ  ๓๕๐  หลังคาเรือน  เป็นบ้านไผ่ล้อมพัฒนาหมู่ที่ ๑ – ๗  หลังจากแยกการปกครองแล้วประมาณ  ๓  ปี  กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งตำบลบ่อเหล็กลองขึ้นมา  โดยการแยกการปกครองจากท้องถิ่นที่ตำบลหัวทุ่ง  คงเหลือหมู่บ้านในเขตปกครองในตำบลหัวทุ่ง  เพียง  ๙  หมู่บ้าน  ซึ่งบ้านไผ่ล้อมพัฒนาเป็นหมู่ที่  ๙  จนถึงปัจจุบัน